วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

วันตรุจีน

  ประวัติของวันขึ้นปีใหม่ของจีนมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในวัฒนธรรมอื่นๆ ความปรารถนาสิ่งที่เราหวังว่าจะได้ปรับปรุง หรือที่เราคิดทำเมื่อเริ่มต้นในเทศกาลวันปีใหม่ มาถึงตอนนี้ ถ้าไม่ถูกลืมก็ถูกยัดลงกล่องใส่ตู้ปิดตายและแปะหน้าตู้ว่าไม่แน่ เอาไว้ทำปีหน้าแล้วกันอย่างไรก็ดี ความหวังก็คงยังไม่สูญไปทั้งหมดเพราะโอกาสที่สองกำลังมาถึงแล้วกับการฉลอง วันปีใหม่จีน หรือที่เรารู้จักกันว่า ตรุษจีน
          ตรุษจีน นั้นคล้ายคลึงกับวันปีใหม่ในประเทศทางตะวันตก ร่องรอยของประเพณี และพิธีกรรมความเป็นมาของการฉลอง ตรุษจีน นั้นมีมานานกว่าศตวรรษ จริงๆแล้วนานมาก จนไม่สามารถย้อนกลับไปดูว่าเริ่มต้นฉลองมาตั้งแต่เมื่อไร เป็นที่รู้จักและจำได้ทั่วไปว่าเป็น การฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ และการฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน การเตรียมงานฉลองส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อน วันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) เมื่อผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่างๆ เพื่อประดับบ้านเรือน, อาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูก ทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่างหน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้าย ออกไป ประตูหน้าต่างมีการขัดสีฉวีวรรณทาสีใหม่ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม ประตูหน้าต่างจะถูก ประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืนเป็นต้น
          วันก่อนวันตรุษจีนนั้นเป็นวันแห่งการการรอคอยจะว่าไปถือวันที่น่าตื่นเต้น มากที่สุด ในบรรดาการฉลองทั้งหมดเห็นจะได้ ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นั้นผูกไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ อาหาร ไปจนถึงเสื้อผ้า อาหารค่ำนั้นประกอบด้วยอาหารทะเล และอาหารนึ่งเช่นขนมจีบ ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆกัน อาหารอันโอชะอย่างเช่นกุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรือง และความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาร่ายดูคล้ายผมแต่กินได้จะนำความความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร และเป็นธรรมดาเสื้อผ้าที่ใส่สีแดงถือเป็นสีที่เป็นมงคลเป็นการไล่ปีศาจร้าย ให้ออกไป และการใส่สีดำหรือขาวเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งสีเหล่านี้ถือว่าเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ หลังจากอาหารค่ำทุกคนในครอบครัวนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง เมื่อถึง วันตรุษจีน ประเพณีตั้งแต่โบราณมาเรียกว่า อังเปา ซึ่งหมายถึง กระเป๋าแดง เป็นการที่คู่แต่งงานให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว ต่าง ออกมาเพื่อคำอวยพรวันปีใหม่กล่าวสวัสดีปีใหม่ เริ่มจากญาติๆ แล้วต่อด้วยเพื่อนบ้าน โดยส่วนใหญ่คำอวยพรวันปีใหม่จะพูดว่า ซินเจิ้งหรู"ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ อี้ ซินเหนียนฟาไฉ" ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า "Let bygones be bygones" (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป) ใน วันตรุษ นี้อารมณ์โมโหโกรธาจะถูกลืม และไม่สนใจ การฉลอง วันตรุษจีน สิ้นสุดลงในงานโคมไฟ ซึ่งฉลองโดยการร้องเพลง เต้นรำ และงานแสดงโคมไฟ ถึงแม้ว่าการฉลอง วันตรุษจีน จะมีแตกต่างกันออกไปแต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การอวยพร ความสงบ และความสุขให้กับคนในครอบครัวและเพื่อนทุกคน
ตำนานความเป็นมาของวันตรุษจีน
ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า “กว้อชุนเจี๋ย” หรือ “กว้อเหนียน” เล่ากันว่าในสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า “เหนียน” มันออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษมัน อนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหาร และกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อถึงตอนค่ำของวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เพื่อต่อสู้กับ เหนียน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อ เหนียน กลับไปแล้ว ทุก ๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูก เหนียน ทำร้าย
ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกันเมื่อ เหนียน ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดังและไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก
 เมื่อวันส่งท้ายตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุกๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุก ๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุก ๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนาน

วันตรุษจีน

วันกองทัพไทย

วันยุทธหัตถี” หรือที่เรียกว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หมายถึง วันที่ระะลึกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ อันตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ กำหนดให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” (แทนวันที่ ๒๕ มกราคม เนื่องจากนายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ได้คำนวณแล้วพบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ที่กำหนดเป็นวันที่ ๒๕ มกราคมนั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง) และถือวันนี้เป็นวันรัฐพิธี โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับการชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติ ในการทำสงครามโอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อยมาก ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะก็จะได้รับการยกย่องว่า มีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้ ในสมัยอยุธยามีการยุทธหัตถี รวม ๓ ครั้ง คือ ครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระ อินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์ ครั้งที่สองในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต และครั้งที่สาม ก็คือครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธหัตถีครั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล หลังจากนั้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่มีข้าศึกใดกล้ายกทัพมารุกรานเรานานถึง ๑๕๐ ปี ดังนั้น ในโอกาสครบรอบ ๔๑๕ ปีแห่งวันกระทำยุทธหัตถีจนได้รับชัยชนะ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำพระราชประวัติโดยย่อของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ ๑๘ แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๙๘ ทรงมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นพระบิดา และมีพระวิสุทธิกษัตรี ผู้เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระสุริโยทัยวีรกษัตรีย์ของไทยเป็นพระมารดา จึงอาจกล่าวได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงได้รับพระสายโลหิตความเก่งกล้าสามารถสืบเนื่องมาจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทางพระชนก และเลือดพระสุริโยทัยซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยยิกา(ยาย)ทางพระมารดา
ทรงมีพระสุพรรณกัลยา เป็นพระพี่นาง และมีพระเอกาทศรถเป็นพระอนุชา เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ๑๕ ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๑๓๓ จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ ทรงอุทิศเวลาเกือบตลอดรัชสมัยให้กับการศึกสงครามเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กรุงศรีอยุธยาตลอดมา ทำให้ทรงไม่มีพระมเหสีและพระราชโอรสธิดา ดังนั้น เมื่อเสด็จสวรรคต พระเอกาทศรถจึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่ง ทรงฉลาดในการวางแผนยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยเดียวกัน ทรงเป็นผู้ริเริ่มการรบแบบกองโจร คือ ใช้คนน้อยแต่สามารถต่อสู้กับคนจำนวนมากได้ พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่ว่าจะเป็นปืน ดาบ ทวนหรือง้าว เป็นต้น
ฝีมือการรบของพระองค์นั้นเรียกได้ว่าเก่งกาจจนเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ข้าศึกศัตรู ดังปรากฏในพงศาวดารพม่าพอสรุปได้ว่า วันหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงตัดพ้อว่า ไม่มีใครที่จะอาสามาสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเลย ทั้งๆที่พระนเรศวรมีรี้พลแค่หยิบมือเดียว แต่ก็ไม่มีใครกล้าไปรบพุ่ง พระยาลอ ขุนนางคนหนึ่ง จึงทูลว่า กรุงศรีอยุธยานั้น สำคัญที่พระนเรศวรองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่ม รบพุ่งเข้มแข็งทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาดรี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระนเรศวรยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไรก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนคนมาก ข้อความดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้อย่างชัดเจนอาจกล่าวได้ว่าตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่เคยทรงอยู่อย่างสะดวกสบายและต้องทรงกระทำการรบมาโดยตลอด กล่าวคือ เมื่อพระชนมายุ ๙ พรรษาก็ต้องไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดีอยู่ ๖ ปี ครั้นเสด็จ กลับมากรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ปีต่อมาพระบิดาก็ส่งไปครองเมืองพิษณุโลก มีอำนาจบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ได้ทรงจัดฝึกทหารแบบใหม่ พอพระชนมายุ ๑๙ พรรษาทรงยกกองทัพไปพร้อมพระบิดาเพื่อช่วยทัพหลวงกรุงหงสาวดีตีเมืองเวียงจันทร์ ครั้นพระชนมายุ ๒๓ พรรษา ได้ลงเรือไล่ติดตามพระยาจีนตุขุนนางจีนเมืองเขมรที่หนีไป โดยใช้พระแสงปืนยิงต่อสู้ด้วยพระองค์เอง อย่างไม่หวาดหวั่นหรือหลบกระสุนที่ยิงโต้กลับมาเลย จนศัตรูยิงถูกรางพระแสงปืนที่ทรงอยู่แตกไป แม้จะจับพระยาจีนตุไม่ได้แต่ความกล้าหาญของพระองค์ก็เป็นที่เลื่องลือ ครั้นพระชนมายุ ๒๔ พรรษา ก็ทรงเป็นแม่ทัพไล่ตีพระทศราชา ซึ่งคุมกองทัพเขมรมาตีโคราชและหัวเมืองชั้นในจนได้ชัยชนะทั้งๆที่กำลังน้อยกว่ามาก จนเขมรขยาดไม่กล้ามารุกรานอีก พอพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษาได้แสดงพระปรีชาสามารถในการวางแผนการรบจนตีเมืองคังได้สำเร็จ ขณะที่อีก ๒ กองทัพของพม่าตีไม่สำเร็จ พอพระชนมายุ ๒๙ พรรษาได้ยกทัพไปช่วยรบเมืองอังวะตามคำสั่งหงสาวดี และได้ทราบกลอุบายว่าทางพม่าจะกำจัดพระองค์ จึงแสร้งเดินทัพช้าๆ และต่อมาก็ได้ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อพ.ศ. ๒๑๒๗ ทำให้กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่ามา ๑๕ ปี ไม่ต้องขึ้นกับพม่าอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าหงสาวดี (นันทบุเรง)จึงให้สุรกรรมายกทัพมาตามจับพระองค์ๆจึงได้ยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุรกรรมาตาย ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา พระมหาธรรมราชา พระบิดาสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และได้ทรงสถาปนาพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชา แต่ให้มีพระเกียรติสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่ง ครั้นพระชนมายุ ๓๗ พรรษา ก็ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา พระชนมายุ ๔๐ พรรษาเสด็จยกทัพไปตีเมืองเขมร จับพระยาละแวกมาทำพิธีปฐมกรรม (คือตัดศีรษะเอาโลหิตมาล้างพระบาท) และแม้แต่ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ พระองค์ก็ยังอยู่ในระหว่างการยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่เกิดประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี)ที่พระพักตร์และเป็นพิษจนเสด็จสวรรคตเสียก่อนในปีพ.ศ. ๒๑๔๘ รวมสิริพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา ๑๕ ในหนังสือ ๔๐๐ ปีสมเด็จพระนเรศวร ที่เรียบเรียงโดยนายสมชาย พุ่มสอาด นายสมพงษ์ เกรียงไกรเพชร และนายกมล วิชิตสรศาสตร์ ได้เขียนไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นกษัตริย์ที่ปรากฏว่าทรงรอบรู้ศิลปศาสตร์ ถึง ๑๘ อย่าง อันเป็นวิทยาการสำคัญสำหรับขัตติยราชในโบราณอย่างยอดเยี่ยม เช่น ทรงรอบรู้ในยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ ทรงรอบรู้หลักและวิธีปฏิบัติเพื่อปกครองใจคน อันเป็นหลักการเดียวกับปัจจุบัน และยังทรงรอบรู้อรรถภาษิต โวหาร รู้แต่งและฟังฉันท์ ทรงรู้ฤกษ์ยาม และวิธีโคจรของดาวหรือดาราศาสตร์ ทรงรู้ทิศและพยากรณ์ อีกทั้งทรงรู้มายาเล่ห์เหลี่ยมและเหตุผลต่างๆ เป็นต้น ซึ่งความรู้เหล่านี้ทรงศึกษาจากพราหมณ์ ปุโรหิตบ้าง จากพระบิดาโดยตรงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ทรงศึกษาจากประสบการณ์ของพระองค์เอง รวมทั้งประสบการณ์จากเมืองพม่าเมื่อครั้นไปเป็นตัวประกันอยู่หงสาวดี ทรงเป็นบุรุษที่มีคุณสมบัติเป็นชายชาติทหารสมกับเป็นนักปกครองอย่างเต็มเปี่ยม คือ ทรงมีความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีน้ำใจห้าวหาญ เด็ดขาด และมีฝีมือในการต่อสู้ยิ่ง
จากพระราชประวัติโดยสังเขปข้างต้น คงจะทำให้เด็กๆเยาวชน และเราได้ซาบซึ้งและภาคภูมิใจในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ของไทยยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ตลอดพระชนมชีพได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมือง และอาณาประชาราษฎร์มาโดยตลอด จึงขอเชิญชวนให้พวกเราที่เป็นอนุชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตให้สมกับที่พระองค์ท่านได้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อรักษาชาติ รักษาแผ่นดินจนตกมาถึงพวกเราในปัจจุบัน

วันกาชาดไทย




 กาชาด หมายถึง ตีนกาสีแดง  สภาการกุศลสำหรับชาติหรือประชาชนทั่วไป
         วันกาชาดเป็นวันที่คนไทยควรจะตระหนักถึงความสำคัญของสภากาชาดไทยที่มีต่อสังคมในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และเข้าร่วมกิจกรรมวันกาชาดไทยเพื่อสนับสนุนช่วยกาชาดด้านกำลังทรัพย์ กำลังความคิดในกิจการสาธารณกุศลให้ดำเนินก้าวหน้าต่อไป

ความเป็นมา

         ในปี พ.ศ. 2402 เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรียทำให้มีทหารได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ชาวสวิสชื่อ นายอองรี ดูนองต์ (อังรี ดูนังต์) ได้ชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันนำทหารที่บาดเจ็บไปทำการรักษาพยาบาล โดยนายอองรี ทำการรักษาให้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติว่าเป็นฝ่ายใดหรือชาติไหนดังนั้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงมีความชื่นชมในมนุษยธรรมของนายอองรี และได้มีการจัดตั้งองค์การสาธารณกุศลในประเทศของตน ต่อจากนั้นมีการรวมตัวกันกลายเป็นสภากาชาดสากล ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในโอกาสต่อมา
         ในประเทศไทยได้ก่อตั้งสภากาชาดเมื่อ พ.ศ. 2436 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บในกรณีพิพาท ร.ศ.112 เมื่อเหตุการณ์สงบทางราชการให้ทำเป็นองค์การสาธารณกุศลเพื่อทำประโยชน์และบรรเทาทุกข์ภัยของประชาชนต่อไป
         องค์การกาชาดได้จัดให้มีงานประจำปีทุกปี ซึ่งไม่มีกำหนดวันที่แน่นอนขึ้นอยู่กับความเหมาะสม การจัดงานวันกาชาดก็เพื่อเป็นการเผยแพร่หลักการ การดำเนิน ผลงาน กิจกรรมต่างๆ รวมทั้งหาเงินเพื่อมาใช้ในกิจกรรมสาธารณกุศลไว้รับใช้ประชาชนที่เดือดร้อนต่อไป

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

วันครู




ความหมาย
ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน; ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ
ความเป็นมาของวันครู

วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐
สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา โดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่ง สำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง” จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครู เพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครู ในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้ และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู และเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกันประชาชน ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ให้วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการ สั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้
การจัดงานวันครู

การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ
การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรม ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครู จะมีกิจกรรม ๓ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้ 1. กิจกรรมทางศาสนา
2. พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น
ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่งประเทศ สำหรับในส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้
รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์ จำนวน ๑,๐๐๐ รูป หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วพิธีบูชาบูรพาจารย์โดยครูอาวุโสนอกประจำการจะเป็นผู้กล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงประคุณบูรพาจารย์


มารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู

1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้
4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู
5. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ
7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน
8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา
10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน

ดอกไม้วันครู คือ "ดอกกล้วยไม้"

คำปฏิญาณตนของครู
ข้อ 1. ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
ข้อ 2. ข้อจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
ข้อ 3. ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็น

บทสวดเคารพครูอาจารย์
(สวดนำ) ปาเจราจริยา โหนติ (รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา

ปญญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ

ข้าขอประณตน้อมสักการ บุรพคณาจารย์

ผู้ก่อประโยชน์ศึกษา

ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา

แก่ข้าในกาลปัจจุบัน

ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์

ด้วยใจนิยมบูชา

ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา

ปัญญาให้เกิดแตกฉาน

ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน

อยู่ในศีลธรรมอันดี

ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี

แก่ชาติและประเทศไทย เทอญฯ

คาถา ปาเจราจริยา โหนฺติ คุณุตฺตรานุสาสกา (วสันตดิลกฉันท์)
ข้าขอประนมกระพุ่ม
อภิวาทนาการกราบคุณอดุลคุรุประทาน
หิตเทิดทวีสรร
สิ่งสมอุดมคติประพฤติ
นรยึดประครองธรรม์
ครูชี้วิถีทุษอนันต์
อนุสาสน์ประภาษสอน
ให้เรืองและเปรื่องปริวิชาน
นะตระการสถาพร
ท่านแจ้งแสดงนิติบวร
ดนุยลยุบลสาร
โอบเอื้อและเจือคุณวิจิตร
ทะนุศิษย์นิรันดร์กาล
ไปเปื่อก็เพื่อดรุณชาญ
ลุฉลาดประสาทสรรพ์
บาปบุญก็สุนทรแถลง
ธุระแจงประจักษ์ครัน
เพื่อศิษย์สฤษฎ์คตจรัล
มนเทิดผดุงธรรม
ปวงข้าประดานิกรศิษ
(ษ) ยะคิดระลึกคำ
ด้วยสัตย์สะพัดกมลนำ
อนุสรณ์เผดียงคุณ
โปรดอวยพรสุพิธพรอเนก
อดิเรกเพราะแรงบุญ
ส่งเสริมเฉลิมพหุลสุน-
ทรศิษย์เสมอเทอญฯ

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

วันเด็ก

ประวัติความเป็นมา         วันเด็กแห่งชาติ มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์การสหประชาชาติทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ โดยในปี พ.ศ. 2498 นายวี เอ็ม กุล ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และความต้องการของเด็ก รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
         ทั้งนี้ การขานรับกับการจัดงานวันเด็กแห่งชาติได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเองทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศ จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของตนขึ้น โดยได้มีการกำหนดว่าจะถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ


         สำหรับประเทศไทย ได้ตอบรับข้อเสนอของนายวี เอ็ม กุลกานี ซึ่งบอกผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ รัฐบาลจึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข


  อย่างไรก็ตาม งานวันเด็กแห่งชาติครั้งแรกของประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 จากนั้นเป็นต้นมา ราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยจัดต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ ด้วยเหตุผลว่า เดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทย เป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้


         ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ว่า ควรจะเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ที่มีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า ตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอมา ส่งผลให้ในปี 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว งานวันเด็กแห่งชาติจึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2508 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

วัตถุประสงค์การจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
         สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้ คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก



         นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ทุก ๆ ปี ในวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานพระบรมราโชวาท สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงโปรดประทานพระคติธรรม และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะมอบคำขวัญวันเด็ก แสดงให้เห็นว่าเด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดของชาติ เราจึงได้ยินคำพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า "เด็กคืออนาคตของชาติ เด็กฉลาด ชาติเจริญ"
กิจกรรมวันเด็ก
         กิจกรรมต่าง ๆ ที่ปฏิบัติในวันเด็กแห่งชาติ  ล้วนมีจุดประสงค์ไปในทางเดียวกัน คือ เพื่อให้เด็กได้ตระหนักถึงคุณค่าบทบาท และความสำคัญของตนเอง โดยการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ในโรงเรียน หมู่บ้าน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกถิ่นจะมีขนมมากมาย มีคำเชื้อเชิญเพราะ ๆ มีคำอวยพรให้เด็กๆ เป็นวันที่เด็ก ๆ มีสิทธิพิเศษ ถนนทุกสาย เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ หรือร่วมกันทำกิจกรรม ในแต่ละชุมชนเพื่อเด็กๆ จัดบรรยากาศเพื่อเด็ก ๆ เพลงเด็ก ๆ ของขวัญเพื่อเด็ก ๆ ฯลฯสถานที่จัดกิจกรรม วันเด็ก 2555



          สำหรับวันเด็ก ประจำปี 2555 นี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 14 มกราคม ว่าแต่จะมีสถานที่ไหนจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ บ้างไหน ไปดูกันค่ะ


กองทัพอากาศ


          จัดงานวันเด็กในวันเสาร์ที่ 14 มกราคมนี้ โดยนอกจากเด็ก ๆ จะได้พบกับเครื่องบินแบบต่าง ๆ ของกองทัพอากาศที่มีประจำการแล้ว ปีนี้จะเป็นปีแรกที่จะได้ยลโฉม เครื่องบินขับไล่แบบ GRIPEN 39 C/D และการเปิดตัวหมู่บินผาดแผลงบูลฟีนิกซ์ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในปี 2555 นี้ ครบรอบ 100 ปี การบินบุพการทหารอากาศ หรือปีที่คนไทยคนแรก คือ พลอากาศโทพระยาเฉลิมอากาศ ทำการบินครั้งแรก และกลับมาพัฒนาสร้างกองทัพอากาศ และกิจการการบินของประเทศไทย


สนามเสือป่า


          กระทรวงศึกษาธิการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2555 วันที่ 14 มกราคม โดยกิจกรรมไฮไลต์ของปีนี้ คือ การจัดบอลลูนลอยฟ้า การฉายภาพยนตร์ 4 มิติ กิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาชิงรางวัล เกมผจญภัย และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้เปิดงาน พร้อมกับพาบุตรชายมาเที่ยวชมงานด้วย


สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)


          สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว เตรียมจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2555 ที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) และร่วมกับพื้นที่ควบคุมในพระองค์ 904 โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว
ในวันเสาร์ที่ 14 มกราคม เพื่อส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน ภายในงานจะมีเวทีหลัก มีกิจกรรมฐานต่าง ๆ เช่น ปาเป้า เพนท์ตุ๊กตา งานจักสาน วาดภาพ งานปั้้น เกมต่าง ๆ 20 กิจกรรม กิจกรรมละ 4 ชุด จัดชุดเครื่องเล่น สำหรับเด็ก 6 ชุด และของขวัญรางวัลสำหรับเด็ก ๆ ที่ผ่านการแข่งขันในกิจกรรมต่าง ๆ 8,200 ชิ้น และรางวัลพิเศษสำหรับเด็กเยาวชนที่ประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมตั้งแต่ 20 กิจกรรมขึ้นไป จำนวน 6,000 ชิ้น
ตลาดนัดจตุจักร


          กองอำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร (ตลาดนัดจตุจักร) ร่วมกับผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร กำหนดจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2555 ระหว่าง เวลา 09.00 น. - 16.00 น. ณ บริเวณเต็นท์หน้ากองอำนวยการตลาดนัดจตุจักร โดยมีการจัดกิจกรรมการประกวดวาดภาพ การประกวดหนูน้อยขวัญใจตลาดนัดจตุจักร แข่งขันเล่นเกมส์ชิงรางวัล พร้อมทั้งบริการอาหารเครื่องดื่มและรับของที่ระลึก ฟรีตลอดงาน


          คำขวัญวันเด็ก          คำขวัญวันเด็ก เป็น คำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันปีใหม่


ประวัติความเป็นมา วันปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนียเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน โดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือนก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก 4 ปี

ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไข อีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้นจนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โยซิเยนิส มาปรับปรุง ให้ปีหนึ่งมี 365 วัน ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน

เมื่อเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในทุก ๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

และในวันที่ 21 มีนาคมตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตกเป๋ง วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมง เท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)

แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้น พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วันจากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (เฉพาะในปี 2125 นี้) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่ไทย ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน
การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก

การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์

ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ
1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ
วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น

กิจกรรมใน วันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขัวญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป ประดับธงชาติ และจะเตรียมทำความสะอาดบ้าน และที่พักอาศัย

เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ


สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ


เกี่ยวกับ เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495
เพลงพรปีใหม่สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันรัฐธรรมนูญ

วันรัฐธรรมนูญ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย

ความเป็นมา
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๑. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย

๒. หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลอันนี้ได้กระทบมาถึงไทยด้วย พระองค์ได้แก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออก ยังความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ

๓. อิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

๔. รัฐบาลได้ออกกฏหมายเก็บภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน จากราษฎร

จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหาร และราษฎรทั่วไปจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการปฏิวัติ มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งประกอบด้วยพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ

วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว" สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ
๑. พระมหากษัตริย์

๒. สภาผู้แทนราษฎร

๓. คณะกรรมการราษฎร

๔. ศาล

ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่างๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ สถาบันที่เกิดใหม่คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงมีผลบังคับได้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม

กระทั่งถึง วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน แต่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทน รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้ หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐที่มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์นั้นได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ้

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นฉบับถาวร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงกำหนด วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ